DNA by SPU
  • Home
  • ​Speaker
  • สมัคร #DNAbySPU รุ่นที่ 7
  • Alumni's Opinions
  • DNA JOURNAL
  • INFOGRAPHIC
  • #MottoTH
  • Privacy Policy
  • BLOG DNA7bySPU

#DNAJOURNAL4 #EP18 ถ้าจะเดินขึ้นภูเขา….อย่ากลัวว่าจะโดนย่ำรอยเท้า

5/27/2019

0 Comments

 
Picture
#DNAjournal4 #EP18

ถ้าจะเดินขึ้นภูเขา….อย่ากลัวว่าจะโดนย่ำรอยเท้า

.

.

นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ผู้บริหารและบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ขององค์กร มีความพยายามอย่างหนักในการสร้าง “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” เป็นกลยุทธ์จะชี้นำองค์กรไปข้างหน้าเพื่อย่นระยะ ทิ้งห่างและเอาชนะคู่แข่งขันในสนามกีฬาที่เรียกว่า "ธุรกิจ" แต่ชื่อว่าการแข่งขันแล้ว ไม่มีผู้เล่นคนไหนสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคู่แข่ง หรือสภาพการแข่งขันไปได้เลย

.

.

ในการฝีกสอนศิลปะการต่อสู้มีคำว่า “ดูให้ดีและเรียนรู้” (watch and learn) วลีนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีศิษย์หน้าใหม่ที่ยังไม่ประสีประสาก้าวเข้ามาในสำนัก สิ่งแรกๆ ที่ท่านอาจารย์จะสอนลูกศิษย์จะไม่ใช่กระบวนท่า แต่เป็นการแสดงให้ดูก่อน เพื่อให้ลูกศิษย์เข้าใจและเห็นภาพตาม

.

.

เช่นเดียวกับเกมส์ธุรกิจ ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์มักจะหาลู่ทางด้วยการศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่งที่ทำมาก่อน เป็นเจ้าตลาด หรือทำผลงานได้ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีใครห้ามได้ “การลอกเลียนความคิดทางธุรกิจ” จึงกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้อย่างเป็นปกติในตลาดที่แข่งขันกันอย่างเสรี

.

.

แคมเปญทางการตลาดใหม่ๆ ไอเดียสินค้าล้ำๆ โปรโมชั่นเจ๋งๆ ที่นักการตลาดและเจ้าของกิจการอดตาหลับขับตานอนคิดมาหลายเดือน กลับถูกก๊อบปี้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน

.

.

ต้องบอกว่าเป็นโชคร้ายที่ “นวัตกรรมทางความคิด” เหล่านี้ไม่ได้รับการปกป้องเหมือนทรัพย์สินทางปัญญาที่สินค้าและบริการ เช่น แบรนด์ โลโก้ การออกแบบ สี กลิ่น รส สามารถพิสูจน์หาเจ้าของความคิดที่แท้จริงได้ง่ายกว่า จึงเหมือนเป็นการชี้โพรงให้กระรอกว่า “การลอกเลียน” เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแต่ไม่ได้ผิดกฎหมายข้อใด

.

.

ทำให้นึกถึงตอนที่ Walter Disney ราชาแห่งการ์ตูนโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Walt Disney ได้เรียกกองทัพนักข่าวมาให้ทำข่าวสวนสนุก Disneyland ที่จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น เขาพานักข่าวไปชมสถานที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งอธิบายอย่างละเอียดว่าเครื่องเล่นนี้มีกิมมิคคืออะไร จะโผล่มาตอนไหน พานักข่าวไปดูเครื่องเล่นทุกชิ้นในสวนสนุกของเขา และเมื่อการสัมภาษณ์จบลง นักข่าวคนนึงยกมือถามเจ้าของสวนสนุกว่า “การที่ท่านเปิดเผยความลับอย่างชัดเจนขนาดนี้ ท่านไม่กลัวคู่แข่งนำความคิดไปทำบ้างหรือ ?”

.

.

Walter Disney ตอบด้วยน้ำเสียงนิ่งเฉยว่า “ก็ให้เขาทำไป และเราจะทำให้ดีกว่าเขา” คำตอบของเขาสะท้อนสัจธรรมและแนวคิดของผู้นำว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่เราจะมุ่งมั่น พัฒนา และก้าวไปข้างหน้าจนสำเร็จ”

.

.

การตามกระแสด้วยการเลียนแบบผู้อื่นจะได้ผลดีในระยะสั้นเท่านั้น เพราะกลยุทธ์ชั้นดีล้วนถูกออกแบบมาให้ “เฉพาะเจาะจง” กับองค์กรนั้นๆ

.

.

การเลียนแบบมักทำให้ผู้ตามต้องสูญเสียตัวตนไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัว เพราะมัวทำตามคู่แข่ง จนสุดท้ายเพิ่งจะรู้ตัวว่า “เราแกร่งไม่เท่าเขา” และพบว่ารอบตัวมีจุดอ่อนเต็มไปหมด ดังนั้นการเลียนแบบอาจไม่ใช่คำตอบ การกลับมานั่งนิ่งๆ พิจารณาและเริ่มกลับมาคิดที่พื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจตน น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

.

.

สำหรับผู้ที่ถูกเลียนแบบก็ต้องไม่ท้อถอยน้อยใจไป จริงๆ ควรจะดีใจเสียด้วยซ้ำ เพราะแสดงว่าสิ่งที่เราคิดมานั้นดี แต่ต้องมองโลกแห่งความเป็นจริงให้ออกว่า นวัตกรรมที่เราสร้างขึ้นอาจถูกเลียนแบบได้รวดเร็วก็จริง แต่วิธีคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่จะต่อยอดเป็นสินค้าและบริการใหม่ๆ นั้นต่างหาก ที่จะทำให้เรานำคู่แข่งตลอดไป

.

.

#itsyouYOU

.

.

หมายเหตุ
1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU
2. ข้อมูล EP18 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณวรวุฒิ อุ่นใจ CEO บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ผู้พลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวที่เป็นเพียงร้านขายเครื่องเขียนห้องแถว ก่อนจะนำไอเดียขายตรงผ่านแค็ตตาล็อกต่อยอดสร้างแบรนด์ “ออฟฟิศเมท” ขึ้นมาเป็นอี-คอมเมิร์ซเบอร์หนึ่ง กระทั่งเข้าควบรวมกับกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล กลายเป็นธุรกิจหมื่นล้านภายใต้ชื่อใหม่ ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)


#DNA4bySPU 16 March 2019

.

.
​
จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU
www.DNAbySPU.com
ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments

#DNAJOURNAL4 #EP17 ก้าวเล็กๆ สร้างการเดินทางที่ยิ่งใหญ่

5/19/2019

0 Comments

 
Picture
Picture
#DNAjournal4 #EP17

ก้าวเล็กๆ สร้างการเดินทางที่ยิ่งใหญ่

.

.

ในการประกอบธุรกิจนั้น สามารถแยกตลาดกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ตลาดมวลชน (Mass market) และตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market)

.

.

“ตลาดมวลชน” คือ กลยุทธ์ตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก โดยผลิตสินค้าที่มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยรวม ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบอะไรบางอย่างที่ “คล้ายคลึงกัน” และการที่ผลิตสินค้าออกมาจำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนผลิตที่ต่ำ ทำให้บริษัทหรือองค์กรสร้างความได้เปรียบในด้านราคาได้

.

.

“ตลาดเฉพาะกลุ่ม” เป็นการผลิตสินค้าหรือบริการแบบเจาะจงให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าที่มีรสนิยมเฉพาะรูปเเบบ ตลาดเฉพาะกลุ่มอาจเกิดได้จากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด แต่หลุมแห่งความต้องการยังไม่ถูกเติมเต็ม หรืออาจจะเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นตามสภาพสังคมและรสนิยมที่เปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่

.

.

แล้วแบบไหนดีกว่ากัน ? “ตลาดมวลชน” มีมูลค่าสูงหลายพันหลายหมื่นล้านบาท (ลองจินตนาการว่า 10% ของคนไทยจ่ายเงินให้ท่านดู) แต่เหมาะกับผู้ประกอบการหรือกลุ่มทุนที่มีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอที่จะทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ไปยังทั่วประเทศได้ เพราะตลาดนี้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงโดยธรรมชาติ ทุ่มงบประมาณแข่งกันเป็นว่าเล่น และถ้าเงินไม่ถึงจริง ลูกค้าจะจำท่านไม่ได้และจะถูกบังคับให้ออกจากตลาดไป

.

.

“ตลาดเฉพาะกลุ่ม” เป็นตลาดที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและทรัพยากร ที่ไม่มีเงินพอจะแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ได้  แม้จะไม่มีมูลค่ามหาศาลเหมือนตลาดข้างบน แต่ก็มีมูลค่ามากพอระดับสิบถึงร้อยล้านบาท และลูกค้าในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยมากกว่าปัจจัยทางด้านราคา เรียกว่า แพงกว่าไม่เป็นไร ขอให้ถูกใจก็พอ ผู้ประกอบการในกลยุทธ์นี้จึงไม่ต้องแข่งขันกันทุ่มงบโฆษณา แต่ต้องรู้จักออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

.

.

โดยสรุปคือ ตลาดมวลชนทำให้เกิดโรงงาน ตลาดเฉพาะกลุ่มทำให้เกิดสินค้าใหม่ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทราบดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสินค้าที่ตอบสนองคนทุกคน ดังนั้นจึงเลือกตอบสนองบางคน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Segmentation” หรือ “การแบ่งกลุ่มลูกค้า” แล้วค่อยเลือกว่ากลุ่มไหนมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่ากัน จึงออกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มนั้น ในขณะที่ คนตัวเล็กทราบดีว่าเราไม่มีเงินพอที่จะไปแข่งกับเขา จึงทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อเอาใจลูกค้าให้อยู่กับเรานานที่สุด

.

.

ในโลกยุคเก่าดูเหมือนตลาดมวลชนจะยิ่งใหญ่กว่าตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ในโลกยุคใหม่ตลาดมวลชนเริ่มจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

.

.

อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” เสรีภาพที่จะเลือกใช้เงินที่ไหนกับอะไร ในโลกยุคเก่าไม่สามารถทำได้ เพราะช่องทางถูกจำกัด ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กที่มีสินค้าคุณภาพดีแต่ไม่มีเงินพอจะซื้อสื่อเพื่อโฆษณาตนเอง ไม่สามารถปรากฏตัวได้ แต่ในยุคนี้ทุกคนสามารถหาร้านประเภทนั้นได้ไม่ยาก เพียงแค่พิมพ์ไปในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

.

.

ลองจินตนาการถึงถนนสายหนึ่งในกรุงเทพ ที่มีร้านกาแฟราคาถูกและแพง มีร้านหมูปิ้งและร้านสลัด ซึ่งแต่ละร้านก็มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มของร้านนั้นๆ ภาพนั้นแสดงให้เห็น “เสรีภาพที่จะเลือก” ได้อย่างแท้จริง

.

.

แต่การจะเป็นผู้นำในตลาดเฉพาะกลุ่มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความทุ่มเท ขยันอดทน ในการ “ออกแบบมาเพื่อคุณ” ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่สุด ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งดี และโปรดอย่ากังวลเลยว่าเล็กเกินไปจะเหนื่อยเปล่าเสียเวลา การเริ่มจากเล็กไม่ใช่ว่าจะใหญ่ไม่ได้ ถ้าท่านเจาะเกาะติดและตอบสนองลูกค้าให้พึงพอใจได้ตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งเขาจะช่วยพาท่านไปยกต่อไป โดยการเชิญชวนเพื่อนมาใช้บริการของท่าน

.

.

ทุกการเดินทางที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ของคนที่มีความกล้าหาญเสมอ ทุกสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้สูญเปล่า เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่สุกงอมเท่านั้น ดังนั้นโปรดอย่าใจร้อนหรือฉีดสารย่นเวลาให้ต้นไม้โตในเร็ววัน ทุกอย่างในโลกมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมัน และเมื่อไหร่ที่ถึงเวลาของมัน มันคุ้มค่ากับการรอคอย

.

.

#itsyouYOU 

.

.

หมายเหตุ
1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU
2. ข้อมูล EP17 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณสาลินี รัตนชัยสิทธิ์ ศิลปินวาดภาพประกอบ Character Illustrator เจ้าของแบรนด์ @Cyranodesign และศิษย์เก่าของ #DNAbySPU รุ่นที่ 1 ที่มาแบ่งปันเรื่องราวของสิ่งเล็กๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาลและสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้อย่างไม่รู้ลืม
#DNA4bySPU 9 March 2019

.

.

จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU
www.DNAbySPU.com
ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
Picture
Picture
0 Comments

#DNAJOURNAL4 #EP16 โลกสองใบที่ไม่บรรจบกัน

5/5/2019

0 Comments

 
Picture
Picture
#DNAjournal4 #EP16
​
โลกสองใบที่ไม่บรรจบกัน

.

.

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของนักการตลาดหน้าใหม่ที่ขาดประสบการณ์ หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่เจ้าของต้องควบสองตำแหน่งทั้งผู้บริหารและนักการตลาด เพราะมีเรื่องราวต่างๆ ให้ศึกษามากมาย ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและหุ่นยนต์หรือระบบอัลกอริทึม

.

.

การมีข้อมูลและเรื่องราวให้ท่านศึกษามากมายถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะพัฒนาตนเองและธุรกิจ แต่ข้อควรระวังก็คือ การที่มีข้อมูลมากไป จนทำให้เกิดภาวะ “ข้อมูลท่วมท้น” หรือ “Information Overload” ทำให้มีโอกาสบริหารแผนการตลาดผิดพลาด สถานการณ์ไม่เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ซึ่งทำให้เสียเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์

.

.

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดถือได้ว่าเป็นความปกติในชีวิตมนุษย์ มีคำกล่าวว่า “บุคคลที่ไม่เคยทำผิดพลาด คือบุคคลที่ไม่เคยทำอะไรเลย” ซึ่งข้อดีคือเมื่อเราผิดจะเรียนรู้วิธีที่ถูก ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของมือใหม่ เมื่อทำผิดพลาดจะเรียนรู้จากความผิดพลาด และใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นฐาน เพื่อส่งให้ท่านไปได้ไกลขึ้น

.

.

แต่ความผิดพลาดไม่ใช่จะเกิดขึ้นกับมือใหม่อย่างเดียว บางครั้งความเก๋าเกมก็ไม่ได้ช่วยป้องกันความผิดพลาดให้เกิดขึ้น ซ้ำร้ายมือเก๋าบางรายยังไม่ยอมรับว่าแคมเปญที่เขาทำไม่ได้ผล ไม่ใช่เพราะฝีมือแต่จากสถานการณ์รอบข้าง

.

.

โรคติดต่อชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จในอดีต และต้องมาทำการตลาดอีกครั้งในยุคใหม่ สาเหตุคือ การที่มีอีโก้และเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก โดยไม่ฟังความเห็นของคนอื่น หรือเชื่อมั่นในวิธีการของตัวเองมากจนเกินพอดี

.

.

หลายครั้งโลกของนักการตลาดก็ไม่ได้เป็นโลกใบเดียวกับผู้บริโภค นักการตลาดเชื่อว่าหนังโฆษณาต้องใหญ่และดัง เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคจะจำได้และไปเลือกซื้อสินค้า แต่หลายครั้งผู้บริโภคถามว่า “จะให้ซื้อสินค้าใช่ไหม เสียเงินค่าโฆษณาไปทำไม ทำไมไม่ออกโปรโมชั่น ?”

.

.

นักการตลาดชอบสร้างแบรนด์ผ่านโลโก้ดีๆ ฟอนต์สวยๆ เพราะตำราการตลาดพร่ำสอนมาว่า “แบรนด์ที่ดีจะสร้างโปรดักส์ที่ดี” แต่ในสายตาลูกค้ากลับคิดกลับตาลปัตรว่าโลโก้และฟอนต์ที่สวยงามจะสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตได้อย่างไร ? ดังนั้นโปรดักส์จึงมีความสำคัญมากกว่าแบรนด์ เพราะ “โปรดักส์ที่ดีจะสร้างแบรนด์ที่ดี”

.

.

ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ชัดได้ว่า กรอบความคิดของนักการตลาดในโลกยุคเก่าใช้ไม่ได้กับโลกยุคใหม่อีกต่อไป ดังนั้นวิธีการดีที่สุดในการทำตลาด ต้องเริ่มจากกรอบความคิดของนักการตลาดเอง ที่ต้องไม่ยกตนข่มท่าน ลดอัตตาตนเองลง และรับรู้ถึงคลื่นของการเปลี่ยนแปลง

.

.

ไม่ว่าในช่วงเวลาไหนหรือยุคสมัยใดๆ มนุษย์ก็ต้องซื้อสินค้า มีปัญหาที่ต้องการจ้างให้สินค้าทำ มีความต้องการให้สินค้าเติมเต็มชีวิต ไม่ว่ายังไงความต้องการของมนุษย์ก็จะมีพื้นที่ว่างอยู่เสมอ รอให้มีคนไปเติมเต็ม เพียงแต่สินค้าของท่านสามารถเติมเต็มช่องว่างนั้นได้หรือไม่ ?

.

.

การที่สินค้าของท่านขายไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าสินค้าตอบความต้องการไม่ได้ เพียงแต่มีคนอื่นตอบได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียง ราคา คุณภาพสินค้า ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ “หาให้เจอว่าสินค้าของท่านเหมาะสมกับใคร?” และทุ่มเทกำลังทั้งหมดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนั้น เพราะผู้ที่สร้างรายได้ให้กับท่าน บางครั้งก็ไม่ได้มาจากคนที่เล็งเอาไว้เสมอไป

.

.

อย่าลืมใส่ใจลงไปด้วย เพราะ “ลูกค้าใช้เงินซื้อสินค้าแต่ใจคาดหวังกับบริการ” การบริการในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการช่วยถือของให้ แต่หมายถึง “ประสบการณ์” ที่ลูกค้าได้รับ การนำเสนอที่มีระยะ ไม่สร้างความรำคาญจนเกินไป การแก้ไขปัญหาที่ฉับไวและทันท่วงที ให้ความสบายใจเมื่ออยู่ใต้การดูแลของท่าน

.

.

อย่าคิดว่านักการตลาดจะยืนอยู่เหนือลูกค้าหนึ่งขั้นเหมือนในอดีต และไม่ว่าการตลาดยุค 4.0 ในวันนี้ หรือ 5.0 ของวันพรุ่งนี้ ธุรกิจเริ่มจากมนุษย์และจบที่มนุษย์ ดังนั้นถ้าจะชนะใจมนุษย์ ก็ต้องเริ่มจากการพูดภาษาเดียวกัน ความสัมพันธ์จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

.

.

#itsyouYOU

.

.

หมายเหตุ
1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU
2. ข้อมูล EP16 ต่อยอดจากการบรรยายของของคุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง
นักการตลาดดิจิทัลผู้ก่อตั้ง DOTS CONSULTANCY และ NUTTAPUTCH.COM มาเปิดเผยปริศนาดำมืดของการสร้างคอนเทนต์ที่ไปได้ไกลและสร้างความประทับใจให้เราว่ามีส่วนผสมอย่างไร #Speaker #DNA4bySPU 9 March 2019

.

.
​
จัดทำโดยหลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU
www.DNAbySPU.com
ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
Picture
Picture
0 Comments

#DNAJOURNAL4 #EP15 ภัยคุกคาม ทำให้เราค้นพบ

5/5/2019

0 Comments

 
Picture
Picture
​#DNAjournal4 #EP15

ภัยคุกคาม ทำให้เราค้นพบ

.

.

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคำที่ได้รับคำนิยมและถูกพูดถึงโดยนักบริหาร นักการตลาด เจ้าของธุรกิจและนักการเมือง คือคำว่า “Disruption” หรือการที่มีอะไรมาแทรกแซง จนทำให้สิ่งนั้นถูกทำลายลงไปอย่างถอนรากถอนโคน จนไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก

.

.

เมื่อคำว่า “Disruption” ถูกพูดถึง หลายคนมักจะคิดว่า “เทคโนโลยี” เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีประสบการณ์ แต่ไม่มีกระบวนการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่จุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจากมนุษย์ผู้จ่ายเงินให้สินค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และถ้าโรงงานวิ่งตามไม่ทัน ก็เป็นธรรมชาติที่โรงงานนั้นจะต้องปิดตัวลงไป

.

.

วิถีชีวิตและพฤติกรรมของพวกเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาไม่ถึง 10 ปี เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราอดทนนั่งโฆษณาที่คั่นระหว่างเบรครายการที่มีทุก 15 นาทีได้ แต่วันนี้ไม่สามารถทนดูโฆษณาที่มีความยาวเกิน 5 วินาทีได้ เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราสามารถนั่งรอเพื่อนที่มาสาย 5 นาทีได้ แต่ตอนนี้ถ้าสายวินาทีเดียวต้องไลน์ไปถามว่าอยู่ไหนแล้ว

.

.

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า “พฤติกรรมของคน” เป็นจุดศูนย์กลางของคำว่า Disruption อย่างแท้จริง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ธุรกิจมากมายกังวลกับคำว่า Disruption คือ “การแข่งขันข้ามสายพันธุ์”

.

.

Coca Cola ไม่ได้มองว่าคู่แข่งคือ Pepsi น้ำอัดลมอื่นหรือเครื่องดื่มดับกระหายในตลาดอื่น แต่มองว่า คือ Netflix และ Youtube ที่ทำให้คนอยู่ติดบ้านและได้รับความบันเทิง ไม่ต้องออกมาเดินเที่ยวห้างเพื่อดูหนังหรือดูการแข่งขันกีฬาที่สนามกีฬา เช่นเดียวกับ Lazada ในประเทศไทย ที่ไม่ได้มองว่าคู่แข่งคือเว็บชอปปิ้งรายอื่น แต่คือ Facebook และ Instragram ที่คนไทยชอบซื้อของที่นั่น

.

.

ลองนึกฉากในหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ซักเรื่องที่พระเอกถือดาบยืนอยู่ที่จุดกึ่งกลางของสังเวียนต่อสู้ ในสนามนั้นมีประตูหลายบาน ไม่รู้ว่าคู่ต่อกรของพระเอกจะมาจากประตูไหน ใช้อาวุธอะไร และร้ายยิ่งกว่านั้นเป็นคนหรือสัตว์ ตอนนี้ธุรกิจก็เจอกับสถานการณ์ลักษณะนี้

.

.

ถ้าท่านเห็นคู่ต่อสู้มาแต่ไกล ท่านยังพอจะออกแบบกระบวนท่าเพื่อรับมือกับคู่ต่อสู้ของท่านได้ และพอคาดเดาได้ว่าถ้าเขามาแบบนี้ ต้องใช้ท่าอะไรถึงจะเอาชนะ แต่ถ้าท่านไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้เป็นใคร มาจากไหน ท่านจะหาวิธีการในการสู้กับเขาได้อย่างไร ?

.

.

สิ่งที่ท่านจะพึ่งได้อย่างเดียวในสถานการณ์คับขัน คือ สิ่งที่เรียกว่า “สัญชาตญาณ” (Instinct) คือ กระบวนท่าที่ออกมาอัตโนมัติ มาจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอาวุธคู่มือที่พอจะช่วยท่านได้

.

.

สุภาษิตจีนโบราณกล่าวไว้ว่า “ท่ามกลางอันตราย มักมีโอกาสซ่อนอยูเสมอ” มีสิ่งมีชีวิตไม่กี่สายพันธุ์ในโลกใบนี้ ที่สามารถร่วมแรงร่วมใจเพื่อช่วยกันผลักอันตรายให้ผ่านพ้นไปได้ สิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถนี้ เช่น มด ผึ้ง หรือแมลงต่างๆ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสัตว์เหล่านี้มีอะไรเชื่อมโยงกัน มาจากรังเดียวกันและเป็นญาติกัน เช่น มดงาน ที่เกิดจากราชินีตัวเดียวกัน พวกมดจึงรู้ดีว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน และต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ “รัง” อยู่รอด

.

.

เมื่อเป็นเรื่องส่วนรวม สิ่งมีชีวิตที่มีอะไรเหมือนกันจะรวมพลังกัน และใช้ทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น และมนุษย์ก็คือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวในโลกใบนี้ที่ทำให้คนที่มาจากคนละบ้าน เกิดจากคนละถิ่น การศึกษาต่างกัน สามารถร่วมมือกันได้โดยไม่ต้องเป็นญาติกัน คือ “ค่านิยม” หรือมีความเชื่อเหมือนกัน

.

.

นี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ทำให้เรา “ค้นพบ” กับคนที่พร้อมจะสู้กับปัญหาที่ถาโถมในองค์กรเรา และพยายามแก้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในเช้าวันจันทร์ หรือพบเจอกับบางคนที่ไม่มีใจและรอเวลาเลิกงานในเย็นวันศุกร์ก็เท่านั้น

.

.

อาณาจักรจะไม่มีทางล่มสลายจากศัตรูจากภายนอก แต่จะล่มสลายในชั่วพริบตาถ้าเกิดจากความแตกแยกภายใน เมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้ว จึงจะมีกำลังวังชา ความคิด มุมมองในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าป่วยไข้จากภายใน ปัจจัยภายนอกใดๆก็ก่อให้เกิดปัญหา หากไม่แก้ปัญหาภายในให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน อย่าเพิ่งไปคิดถึงการแก้ปัญหาภายนอกเลย

.

.

บริษัทและองค์กรก็เช่นกัน

.

.

#itsyouYOU

.

.

หมายเหตุ
1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU
2. ข้อมูล EP15 ต่อยอดจากการบรรยายของของคุณสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” และพิธีกรรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” จะมาเล่าถึงวิธีคิดเล็กๆ ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจของเราให้มีเสน่ห์ ตามอัตราความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเองและไม่มากจนเกินพอดี
#Speaker #DNA4bySPU 9 March 2019

.

.
​
จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU
www.DNAbySPU.com
ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
Picture
Picture
0 Comments

    DNAbySPU

    หลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม
    ​ทางความคิด

    สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

    www.DNAbySPU.com
     089-4883655

    Archives

    June 2019
    May 2019
    April 2019
    March 2019
    February 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    September 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    May 2018
    April 2018
    January 2018
    December 2017
    November 2017
    October 2017
    September 2017

    Categories

    All

    RSS Feed

Location

Contact Us

หลักสูตรพัฒนาพันธุกรรมทางความคิด (DNAbySPU)
สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เลขที่ 2410/2 ถนนพหลโยธิน แขวงเสนานิคม 
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
EMAIL : dnabyspu@gmail.com
TEL:
คุณลภัสรดา โกมุทพงศ (อุ้ม)  โทร: 089-4883655
  • Home
  • ​Speaker
  • สมัคร #DNAbySPU รุ่นที่ 7
  • Alumni's Opinions
  • DNA JOURNAL
  • INFOGRAPHIC
  • #MottoTH
  • Privacy Policy
  • BLOG DNA7bySPU