#DNAjournal3 #EP9
High Tech & High Touch อุดมการณ์บนเส้นทางนวัตกรรม . . นาทีนี้เชื่อแน่ว่าองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตื่นตัวในเรื่องการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ ช่วยขยายตลาดให้สามารถไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น วิทยาการที่ล้ำหน้า นวัตกรรมที่นำสมัย และความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ที่สิ้นสุดเปรียบได้กับอาวุธสำคัญทางการแข่งขันที่ขาดไม่ได้เพื่อจะสร้างความเป็นต่อในโลกของการค้า . . ทุกวันนี้เราเห็นว่ามี “ดิจิตอลยักษา” (Digital Giant) ซึ่งก็คือ Platform ขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของข้อมูลมหาศาล (Big Data) แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงให้เป็นแบบแผนวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) เพื่อทำนายพฤติกรรมในอนาคต แล้วจึงประยุกต์ใช้แบบแผนเหล่านั้น เพื่อกันลูกค้าเก่าไม่ให้ออกไปจากธุรกิจ รวมถึงอาศัยฐานข้อมูลที่มีขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจข้างเคียงได้โดยง่าย ยักษาเหล่านั้นขยับตัวทีไร โลกต้องสั่นสะเทือนทุกที สร้างความหวาดหวั่นให้แก่คู่ค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมข้างเคียง . . Artificial Intelligence หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกและมีการพูดถึงมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราอาจจะคุ้นชินกับภาพของจักรกลที่ไร้ความควบคุมและมุ่งหวังที่จะครอบครองโลกจากจอภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ภาพนั้นเสมือนจริงมากจนทำให้เราไม่ค่อยอยากยุ่งกับสิ่งนั้น แต่สิ่งนั้นได้มายืนอยู่ที่นี่แล้วในหลากหลายอุตสาหกรรมเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต ด้านการแพทย์ ด้านการตลาด การขายและการบริการลูกค้า ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์อยู่ใกล้เรามากกว่าที่เราคิด . . เทคโนโลยีที่สามารถส่งคนไปในอีกอาณาจักรหนึ่งได้อย่าง Virtual Reality และเทคโนโลยีที่เพิ่มสภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยการซ้อนทับเนื้อหาท่ามกลางวัตถุในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าง Augmented Reality นั้นถูกทำนายว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมโฆษณาและความบันเทิง เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถทำให้ผู้รับสารนั้น สามารถ “รู้สึกและเข้าถึงสาร” ได้มากกว่าการเห็นและได้ยินเพียงอย่างเดียว . . แม้ว่าเทคโนโลยีในโลกใบนี้จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายท่านต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแม้วิทยาการจะก้าวล้ำหน้าไปเพียงใด แต่ก็จะยังไม่สามารถเติมเต็มและแทนที่ “บางสิ่ง” ของมนุษย์ได้ . . หลักสูตร #DNA3bySPU ได้รับเกียรติจากคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด และ Technology Firm Executive Director มาแบ่งปันแนวคิดในการปรับโมเดลธุรกิจที่มีมูลค่าติดลบ 100 ล้านบาทสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวอันดับ 5 ของโลก . . Empathy หรือ “ความเข้าอกเข้าใจ” นั้นเป็นทักษะสุดพิเศษของมวลมนุษย์ เปรียบได้กับบ่อเกิดของสังคมโลก เป็นบันไดขั้นแรกสู่การคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่น่าชื่นชมและนวัตกรรมต่างๆ ถ้าปราศจากทักษะดังกล่าว แม้ว่าท่านจะเป็นเจ้าของวิทยาการที่ล้ำหน้าได้แล้ว บริษัทท่านอาจถูกขนานนามว่าก้าวไกลและไฮเทค แต่ก็เสมือนจักรกลที่ไร้ชีวิต . . Empathy นั้นเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้แต่ละคนในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความหมายของ Empathy นั้นมีละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่า High Touch จากหนังสือชื่อ High Tech High Touch: Technology and Our Search for Meaning เขียนโดย John Naisbitt . . บางคนเขียนโปรแกรมเก่ง แก้ปัญหาทางเทคนิคได้สารพัด เรียกว่าเป็นพวกกลุ่มคน “ไฮเทค” (High Tech) แต่บางคนก็ไม่เก่งด้านเทคนิค แต่เก่งเรื่องคน มีความเข้าอกเข้าใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนได้มากกว่า คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ไฮทัช” (High Touch) คนที่มีความ High Touch อยู่ในตัวคือ คนที่มีความตระหนักสูงในความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ อารมณ์และความต้องการ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ในขณะที่สายเทคนิคจะเก่งเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวงจรของเครื่องจักรกลไก . . มนุษย์พันธุ์ผสมระหว่าง High Tech และ High Touch นั้น อาจจะหาได้ยากในคนๆเดียว แต่ถ้าเป็นแง่มุมของทีมนั้น องค์กรที่มีโอกาสก้าวไปได้ไกลที่สุด ก็คือองค์กรที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างศาสตร์ “เก่งคน” และ “เก่งเครื่อง” ได้ แล้วสามารถหยิบจับทักษะทั้งสองมารวมกันและผลักดันให้ออกมาเป็นสินค้าบริการหรือโซลูชั่นได้ . . ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม ทำให้สินค้าทางการเกษตรและสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลิตผลของภูมิปัญญาไทย เช่น ข้าวไทย ถ้วยชามเบญจรงค์ เสื้อผ้าจากเส้นใยกัญชา จะอุดมไปด้วยกลิ่นไอของวัฒนธรรมและคุณค่า ชาวต่างชาติต่างมองว่าสินค้าจากประเทศไทยเป็นของ “High Touch” ที่มีคุณค่า เปี่ยมไปด้วยรสนิยมและมีราคาแพง . . แต่ในอดีต หลายภาคส่วนต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้า จึงเชิญชวนต่างชาติที่ High Tech และเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์กลไก เข้ามาถ่ายทอด Know How เทคโนโลยี โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย ซึ่งในทางทฤษฎีก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฎิบัติกลับไม่ได้เป็นไปตามคาด เพราะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีชั้นสูงที่ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและใช้แรงงานไทยเป็นส่วนประกอบเท่านั้น . . ดังนั้นไม่ควรมองแค่ว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้นั้นมีจุดประสงค์แค่อำนวยความสะดวกสบายและแบ่งเบาภาระของผู้ผลิตเท่านั้น แต่คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อ “สร้างมูลค่า” ให้มีคุณค่าที่เพิ่มขึ้น มีแต้มต่อมูลค่าราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในการจะสร้างมูลค่าได้นั้น ต้องอาศัยศาสตร์ความเข้าอกเข้าใจ การส่งต่อความตั้งใจของผู้ขายไปยังความรู้สึกของผู้ซื้อ เป็นวิชามนุษย์ที่ยังไม่มีที่ไหนสอน และจักรกลจะไม่มีทางเข้าใจ เพราะจักรกลมีชีวิตแต่ไร้ซึ่งจิตใจ วิญญาณและความรู้สึก . . การยืนหยัดอยู่บนเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยทักษะของวิชามนุษย์ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี วิทยาการเครื่องยนต์กลไกสมัยใหม่ เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ทั้งสองฝั่งของ High Tech และ High Touch ควรมีน้ำหนักที่สมดุล ไม่โอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป ไม่เช่นนั้นนวัตกรรม สินค้าหรือบริการที่อุตสาหะคิดค้นมาและลงทุนไปอย่างมากมายนั้น อาจจะไร้ซึ่งความสมบูรณ์ เพราะขาดความเป็นมนุษย์นั่นเอง . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.9 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด Technology Firm Executive Director มาแบ่งปันแนวคิดในการปรับโมเดลธุรกิจที่มีมูลค่าติดลบ 100 ล้านบาท สู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวอันดับ 5 ของโลก . . #Speaker #DNA3bySPU 28 April 2018 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments
Leave a Reply. |
DNAbySPUหลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม Archives
June 2019
Categories |