#DNAjournal3 #EP10
สร้างมูลค่าสินค้าด้วยภาพถ่าย . . หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์และสินค้าของท่านคือวิธีการนำเสนอผ่านทางภาพถ่าย เปรียบเสมือนหน้าต่างบานแรกที่ลูกค้าจะได้สัมผัสแบรนด์ ถ้าภาพถ่ายออกมามีคุณภาพดี สินค้าชิ้นนั้นก็จะดูมีมูลค่าราคาแพง แต่ถ้าภาพออกมาไม่สวยงามนัก สินค้าก็จะดูด้อยค่าลงไปในสายตาของลูกค้า . . ในโลกของการซื้อสินค้าออนไลน์ ลูกค้าไม่มีโอกาสจับต้องและมองเห็นตัวสินค้าจริงได้ ต้องเลือกซื้อของผ่านภาพถ่ายและคำบรรยายเท่านั้น ดังนั้นรูปสินค้าสวยๆ และข้อมูลที่ครบถ้วนนั้น จะช่วยเสริมจุดเด่น ลดจุดด้อยสินค้า เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้าและมีผลทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายและรวดเร็วแบบที่หลายคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว . . การถ่ายภาพสินค้านั้นเอาเข้าจริง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เหตุผลที่ว่าง่ายเพราะตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ กล้องจากสมาร์ทโฟนก็พัฒนาความสามารถให้สูงขึ้นแถมมีสารพัดฟังก์ชั่นให้แต่งรูปครบครัน ไม่แพ้กล้องที่มีราคาแพงของมืออาชีพ ถ้าต้องการข้อมูลทักษะอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ก็สามารถหาคำตอบได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ที่ว่ายากคือพอถ่ายออกมา หลายครั้งไม่สวยถูกใจเหมือนรูปที่เห็นในนิตยสาร . . ทำไมภาพสินค้าที่ถ่ายส่วนใหญ่ออกมามืด ไม่สว่างสดใสอย่างที่ควรจะเป็น ? ทำไมโฟกัสแล้วภาพออกมาเบลอทั้งสินค้าและฉากหลัง ? ไม่มีสตูดิโอแล้วจะถ่ายสวยได้ไหม ? จะจัดไฟอย่างไรดี ? จะถ่ายให้สินค้าดูมีชีวิตชีวาได้อย่างไร ? ชุดคำถามเหล่านี้ล้วนมาจากพ่อค้าแม่ขายที่ได้ลองถ่ายภาพสินค้าด้วยตนเอง แล้วเริ่มถอดใจจะหันหน้าไปหามืออาชีพ . . ถึงแม้ว่าราคาการจ้างงานมืออาชีพหรือฟรีแลนซ์ในการถ่ายภาพสินค้าให้ออกมาสวยจะมีราคาที่ถูกลง แต่ในความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น ท่านก็สามารถถ่ายออกมาให้ดูดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง และได้ภาพที่มีคุณภาพไม่แพ้มืออาชีพ เพียงแค่ต้องอาศัยเทคนิคเล็กน้อยเท่านั้น . . หลักสูตร #DNA3bySPU ได้รับเกียรติจากคุณสิรภพ วรรณทอง ช่างภาพมืออาชีพ และ Founder at GolfSirapop Photo มาช่วยอธิบายถึงขั้นตอนของการถ่ายภาพสินค้าที่ยอดเยี่ยมด้วยสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องพึ่งกล้องราคาแพงและอุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น . . คำว่า Photography นั้นเกิดจากการผสมผสานของภาษากรีก 2 คำ คือ Phos หมายถึง “แสงสว่าง” Graphein หมายถึง “การเขียน” เมื่อมาควบรวมกันจึงหมายถึง “การเขียนด้วยแสงสว่าง” ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาทุกครั้งในการถ่ายภาพมีด้วยกัน 3 ประการคือ คือ 1.แสง (Lighting) 2.การจัดองค์ประกอบของภาพ (Composition) และ 3.การโฟกัส (Focus) . . แสงที่เหมาะที่สุดในการถ่ายภาพคือ “แสงธรรมชาติ” เวลาที่ดีที่สุดจะเป็นช่วงเช้าประมาณ 8-9 โมง และช่วงเย็น 4-5 โมง เพราะแสงไม่แรงจนเกินไปและมีปริมาณแสงที่เพียงพอต่อการถ่ายภาพ แสงธรรมชาติจะให้ภาพสินค้าออกมาชัดเจน สว่าง และสีตรงกับสินค้าจริง แต่โดยทั่วไประบบวัดแสงในโทรศัพท์มือถือจะมีการผันแปรอยู่พอสมควร ถ้าโทรศัพท์ที่เป็นแอนดรอยด์จะมีการชดเชยให้แสงโอเวอร์ อยู่ประมาณ 15 % ในขณะที่ IOS แสงจะดรอปไป 10 % ในการแก้ปัญหานี้จะต้องเข้าไปดูในฟังก์ชั่นที่เป็นฟิลเตอร์ และเข้าไปปรับจะทำให้ระบบการวัดแสงใกล้เคียงกะสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น . . การจัดองค์ประกอบภาพให้ยึดถือในกฏสามส่วน ซึ่งถูกค้นพบโดยปีทาโกรัส นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก ที่อ้างอิงจากทฤษฎีระบบสัดส่วนที่ดีที่สุดในการมองเห็นของมนุษย์ ซึ่งได้ถูกพัฒนาเป็น “จุดตัด 9 ช่อง” หลักในการวางองค์ประกอบที่ต้องการจะเน้นไว้บนจุดตัดจุดใดจุดหนึ่งจะทำให้ดูน่าสนใจขึ้น . . อีกเทคนิคในการจัดการจัดองค์ประกอบภาพ ที่ทำให้ภาพถ่ายดูมีชีวิตชีวามากขึ้นก็คือ “ถ่ายภาพสินค้าคู่กับพร็อพ” เช่น การนำเสนอภาพถ่ายที่โชว์การใช้งานของสินค้าโดยหานางแบบมาใส่กระโปรง จัดวางเมล็ดกาแฟบนแก้วกาแฟ จัดชุดโทนสีที่เข้ากับนาฬิกา หรืออุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ที่สอดคล้องกับบรรยากาศเรื่องราวการนำเสนอ นอกจากจะทำให้ภาพดูน่าสนใจขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าในการใช้งานจริง . . กล้องในปัจจุบันนี้เฉลียวฉลาดมากก็จริง แต่หลายๆ ครั้งโหมด “โฟกัสอัตโนมัติ” (Auto Focus) ก็ไม่สามารถเดาใจผู้ใช้ได้ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นอย่ารีบร้อนรีบเก็บภาพจนเกินไป แตะหน้าจอบริเวณที่จะโฟกัสเสียก่อน รอดูสักนิดให้มั่นใจว่ากล้องจับโฟกัสได้แล้วจึงค่อยกดถ่าย ถ้าต้องถ่ายรูปคนจะต้องทำการโฟกัสที่ตาเสมอ ถ้าถ่ายรูปบรรจุภัณต้องโฟกัสที่แบรนด์ ถ้าถ่ายรูปบรรจุภัณท์ที่มีผลิตภัณท์ต้องโฟกัสที่ผลิตภัณท์ . . และที่สำคัญต้องลองฝึกฝีมือถ่ายบ่อยๆ และสนุกไปกับการถ่ายภาพ เพราะถ้าหมดความสนุกแล้ว ภาพที่ออกมาก็จะไม่ดี การจะทำให้ฝีมือพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ ทดลองอะไรใหม่ๆ จนชินมือ และความสนุกสนานเป็นแรงผลักดันผลงาน เมื่อใดที่อุดมไปด้วยสองสิ่งนี้แล้ว ผลงานย่อมออกมาดีแน่นอน . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.10 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณสิรภพ วรรณทอง ช่างภาพมืออาชีพ และ Founder at GolfSirapop Photo มาช่วยอธิบายถึงขั้นตอนของการถ่ายภาพสินค้าที่ยอดเยี่ยมด้วยสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องพึ่งกล้องราคาแพงและอุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น . . #Speaker #DNA3bySPU 5 May 2018 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments
#DNAjournal3 #EP9
High Tech & High Touch อุดมการณ์บนเส้นทางนวัตกรรม . . นาทีนี้เชื่อแน่ว่าองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตื่นตัวในเรื่องการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ ช่วยขยายตลาดให้สามารถไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น วิทยาการที่ล้ำหน้า นวัตกรรมที่นำสมัย และความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ที่สิ้นสุดเปรียบได้กับอาวุธสำคัญทางการแข่งขันที่ขาดไม่ได้เพื่อจะสร้างความเป็นต่อในโลกของการค้า . . ทุกวันนี้เราเห็นว่ามี “ดิจิตอลยักษา” (Digital Giant) ซึ่งก็คือ Platform ขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของข้อมูลมหาศาล (Big Data) แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงให้เป็นแบบแผนวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) เพื่อทำนายพฤติกรรมในอนาคต แล้วจึงประยุกต์ใช้แบบแผนเหล่านั้น เพื่อกันลูกค้าเก่าไม่ให้ออกไปจากธุรกิจ รวมถึงอาศัยฐานข้อมูลที่มีขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจข้างเคียงได้โดยง่าย ยักษาเหล่านั้นขยับตัวทีไร โลกต้องสั่นสะเทือนทุกที สร้างความหวาดหวั่นให้แก่คู่ค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมข้างเคียง . . Artificial Intelligence หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกและมีการพูดถึงมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราอาจจะคุ้นชินกับภาพของจักรกลที่ไร้ความควบคุมและมุ่งหวังที่จะครอบครองโลกจากจอภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ภาพนั้นเสมือนจริงมากจนทำให้เราไม่ค่อยอยากยุ่งกับสิ่งนั้น แต่สิ่งนั้นได้มายืนอยู่ที่นี่แล้วในหลากหลายอุตสาหกรรมเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต ด้านการแพทย์ ด้านการตลาด การขายและการบริการลูกค้า ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์อยู่ใกล้เรามากกว่าที่เราคิด . . เทคโนโลยีที่สามารถส่งคนไปในอีกอาณาจักรหนึ่งได้อย่าง Virtual Reality และเทคโนโลยีที่เพิ่มสภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยการซ้อนทับเนื้อหาท่ามกลางวัตถุในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าง Augmented Reality นั้นถูกทำนายว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมโฆษณาและความบันเทิง เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถทำให้ผู้รับสารนั้น สามารถ “รู้สึกและเข้าถึงสาร” ได้มากกว่าการเห็นและได้ยินเพียงอย่างเดียว . . แม้ว่าเทคโนโลยีในโลกใบนี้จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายท่านต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแม้วิทยาการจะก้าวล้ำหน้าไปเพียงใด แต่ก็จะยังไม่สามารถเติมเต็มและแทนที่ “บางสิ่ง” ของมนุษย์ได้ . . หลักสูตร #DNA3bySPU ได้รับเกียรติจากคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด และ Technology Firm Executive Director มาแบ่งปันแนวคิดในการปรับโมเดลธุรกิจที่มีมูลค่าติดลบ 100 ล้านบาทสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวอันดับ 5 ของโลก . . Empathy หรือ “ความเข้าอกเข้าใจ” นั้นเป็นทักษะสุดพิเศษของมวลมนุษย์ เปรียบได้กับบ่อเกิดของสังคมโลก เป็นบันไดขั้นแรกสู่การคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่น่าชื่นชมและนวัตกรรมต่างๆ ถ้าปราศจากทักษะดังกล่าว แม้ว่าท่านจะเป็นเจ้าของวิทยาการที่ล้ำหน้าได้แล้ว บริษัทท่านอาจถูกขนานนามว่าก้าวไกลและไฮเทค แต่ก็เสมือนจักรกลที่ไร้ชีวิต . . Empathy นั้นเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้แต่ละคนในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความหมายของ Empathy นั้นมีละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่า High Touch จากหนังสือชื่อ High Tech High Touch: Technology and Our Search for Meaning เขียนโดย John Naisbitt . . บางคนเขียนโปรแกรมเก่ง แก้ปัญหาทางเทคนิคได้สารพัด เรียกว่าเป็นพวกกลุ่มคน “ไฮเทค” (High Tech) แต่บางคนก็ไม่เก่งด้านเทคนิค แต่เก่งเรื่องคน มีความเข้าอกเข้าใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนได้มากกว่า คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ไฮทัช” (High Touch) คนที่มีความ High Touch อยู่ในตัวคือ คนที่มีความตระหนักสูงในความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ อารมณ์และความต้องการ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ในขณะที่สายเทคนิคจะเก่งเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวงจรของเครื่องจักรกลไก . . มนุษย์พันธุ์ผสมระหว่าง High Tech และ High Touch นั้น อาจจะหาได้ยากในคนๆเดียว แต่ถ้าเป็นแง่มุมของทีมนั้น องค์กรที่มีโอกาสก้าวไปได้ไกลที่สุด ก็คือองค์กรที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างศาสตร์ “เก่งคน” และ “เก่งเครื่อง” ได้ แล้วสามารถหยิบจับทักษะทั้งสองมารวมกันและผลักดันให้ออกมาเป็นสินค้าบริการหรือโซลูชั่นได้ . . ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม ทำให้สินค้าทางการเกษตรและสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลิตผลของภูมิปัญญาไทย เช่น ข้าวไทย ถ้วยชามเบญจรงค์ เสื้อผ้าจากเส้นใยกัญชา จะอุดมไปด้วยกลิ่นไอของวัฒนธรรมและคุณค่า ชาวต่างชาติต่างมองว่าสินค้าจากประเทศไทยเป็นของ “High Touch” ที่มีคุณค่า เปี่ยมไปด้วยรสนิยมและมีราคาแพง . . แต่ในอดีต หลายภาคส่วนต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้า จึงเชิญชวนต่างชาติที่ High Tech และเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์กลไก เข้ามาถ่ายทอด Know How เทคโนโลยี โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย ซึ่งในทางทฤษฎีก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฎิบัติกลับไม่ได้เป็นไปตามคาด เพราะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีชั้นสูงที่ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและใช้แรงงานไทยเป็นส่วนประกอบเท่านั้น . . ดังนั้นไม่ควรมองแค่ว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้นั้นมีจุดประสงค์แค่อำนวยความสะดวกสบายและแบ่งเบาภาระของผู้ผลิตเท่านั้น แต่คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อ “สร้างมูลค่า” ให้มีคุณค่าที่เพิ่มขึ้น มีแต้มต่อมูลค่าราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในการจะสร้างมูลค่าได้นั้น ต้องอาศัยศาสตร์ความเข้าอกเข้าใจ การส่งต่อความตั้งใจของผู้ขายไปยังความรู้สึกของผู้ซื้อ เป็นวิชามนุษย์ที่ยังไม่มีที่ไหนสอน และจักรกลจะไม่มีทางเข้าใจ เพราะจักรกลมีชีวิตแต่ไร้ซึ่งจิตใจ วิญญาณและความรู้สึก . . การยืนหยัดอยู่บนเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยทักษะของวิชามนุษย์ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี วิทยาการเครื่องยนต์กลไกสมัยใหม่ เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ทั้งสองฝั่งของ High Tech และ High Touch ควรมีน้ำหนักที่สมดุล ไม่โอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป ไม่เช่นนั้นนวัตกรรม สินค้าหรือบริการที่อุตสาหะคิดค้นมาและลงทุนไปอย่างมากมายนั้น อาจจะไร้ซึ่งความสมบูรณ์ เพราะขาดความเป็นมนุษย์นั่นเอง . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.9 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด Technology Firm Executive Director มาแบ่งปันแนวคิดในการปรับโมเดลธุรกิจที่มีมูลค่าติดลบ 100 ล้านบาท สู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวอันดับ 5 ของโลก . . #Speaker #DNA3bySPU 28 April 2018 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง #DNA3journal #EP8
Marketing Technology ผสานพลัง “การตลาด” “เทคโนโลยี” . . ในช่วงเวลานี้เราไม่อาจต้านทานและปฏิเสธได้เลยว่า “เทคโนโลยี” ได้พลิกโฉมการขายและการตลาดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจัดการข้อมูลและบริหารสินค้า เสาะแสวงหาช่องทางใหม่ๆ รวมถึงการมองหาวิธีนำเสนอในรูปแบบที่แปลกตา ทำให้ตำราหลักการตลาดคลาสสิกที่เราเคยร่ำเรียนกันมา เช่น 4P คงจะไม่เพียงพออีกต่อไป ยิ่งเทคโนโลยีอยู่แวดล้อมตัวเราและมีผลต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนมากขึ้นเท่าไหร่ พฤติกรรม ความต้องการและการรับรู้ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเท่านั้น . . ถ้าจะให้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในอดีตตำราการตลาดสอนเราว่าผู้บริโภคก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละอย่างจะมีลำดับขั้นที่เป็น “เส้นตรง” (Linear Purchase) นั่นคือ เริ่มต้นจากการรับรู้ (Awareness) ตามด้วยสนใจ (Interest) ต้องการ (Desire) และลงมือซื้อ (Action) ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า AIDA เป็นโมเดลรูปกรวยที่ อี.เซนต์. เอลโม ลูวิส ค้นพบในปี 1989 และถูกปรับใช้กับหนังสือการตลาดและการขายหลายต่อหลายเล่มทั่วโลก . . แต่ตอนนี้ผู้บริโภคมีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น พวกเขาตัดสินใจซื้อแบบที่ไม่เป็นเส้นตรง (Non-Linear) คือเห็นปุ๊บ ถูกใจ ซื้อปั๊บ รวมถึงยังมีอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วยเป็นเท่าทวี อันเป็นผลจากการที่มีร้านค้ามากขึ้นที่ขายสินค้าเหมือนๆกัน ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่ผู้ประกอบการจะนำหลักการตลาดในอดีต มาจับระเบียบความคิดของผู้บริโภคในยุคนี้ . . การที่ผู้ประกอบการจะนำเสนอสินค้าและบริการให้ “ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา” นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท หลากอุตสาหกรรม ลงทุนใน Marketing Technology จนมีการคาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่ปีปีข้างหน้า การลงทุนใน Marketing Technology จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการลงทุน . . บริษัท Gartner หนึ่งในบริษัทจาก S&P500 ได้แสดงข้อมูลวิจัยที่ชี้ชัดว่า การใช้งบทางการตลาดของบริษัทต่างๆในปี 2016 พบว่า 27% ของงบการตลาด เป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยี นอกจากนั้น Gartner ยังให้ความเห็นว่า ในปี 2017 นี้ แนวโน้มการลงทุนใน Marketing Technology เป็นการลงทุนทางเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่บริษัทจะลงทุนได้ . . อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่าหลายๆท่านไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยเงินทุนมหาศาล แล้วท่านจะยังสามารถหยิบจับ Marketing Technology มาต่อยอดและสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคได้หรือไม่ ? . . หลักสูตร #DNA3bySPU ได้รับเกียรติจากคุณจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท EXZY Company Limited ที่มาแนะนำถึงเคล็ดไม่ลับในการเลือกหยิบจับโซลูชั่นต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยที่ต้นทุนไม่สูงมาก เพื่อก้าวให้ไกลกว่าที่คู่แข่งจะตามทัน . . Marketing Technology ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเอกสิทธ์ิของบริษัทระดับบนที่อุดมไปด้วยเงินทุนมหาศาล แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผู้พัฒนาโซลูชั่นในรูปแบบดังกล่าวอยู่มากมาย เว็บไซต์ chiefmartec.com ได้จัดทำแผนภาพรวบรวมรายชื่อโซลูชั่นด้าน Marketing Technology พบว่าในปัจจุบันมีมากถึง 4,000 บริษัท . . ที่ผ่านมาผู้บริหารหลายท่านอาจมองว่า หน้าที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับองค์กรจะเป็นของฝ่ายการตลาดและการขายเท่านั้น แต่เรื่องราวของบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้บอกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายการตลาดมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจาก “ผู้ชำนาญทางเทคโนโลยี” เพื่อพัฒนา Marketing Technology ที่ช่วยสร้างผลกำไรให้แก่องค์กร ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน . . ดูจะเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะนำ “หลักการตลาด” ที่ขับเคลื่อนด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ มาผนวกรวมกับ “เทคโนโลยี” ที่เต็มไปด้วยเหตุและผล ศาสตร์ทั้งสองดูจะมีความขัดแย้งกันอยู่พอสมควร สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ เมื่อฝ่ายการตลาดจะต้องริเริ่มโครงการใหม่ๆ และสรุปกันภายในเรียบร้อยแล้ว จึงส่งไม้ต่อให้ “ผู้ชำนาญทางเทคโนโลยี” ดำเนินการต่อ ซึ่งในหลายๆครั้ง เทคนิคที่ฝ่ายการตลาดมองว่าเป็นเรื่องง่ายนั้น พอถึงมือผู้ชำนาญทางเทคโนโลยี กลับมองว่าไม่สามารถปฎิบัติได้จริง ฝ่ายการตลาดจึงต้องเสียเวลาไปคิดโครงการใหม่ . . ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าให้ผู้ชำนาญทางเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโครงการ เพื่อให้สามารถอภิปรายถึงความเป็นไปได้และหาทางออกร่วมกัน นอกจากนั้น ในระยะยาวยังเป็นการทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถติดตาม ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และทำให้โครงการของบริษัทดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อตามแผนที่บริษัทได้วางไว้ . . ปัจจุบันการตลาดรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับเทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศหลายร้อยบริษัท ได้เพิ่มตำแหน่ง Chief Marketing Technology (CMT) มนุษย์พันธ์ุผสมระหว่างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีที่ค่อนข้างลึก และยังต้องมีความสนใจและความเข้าใจในด้านการตลาดด้วย เพื่อดูแลรับผิดชอบเรื่องการปรับใช้เทคโนโลยีทางการตลาดเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจ คัดเลือก ตัดสินใจและประเมินผล ผู้ให้บริการ Marketing Technology จากภายนอกมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้องค์กร . . ตำแหน่ง Chief Marketing Technology (CMT) อาจเป็นตำแหน่งที่ดูจะห่างไกลกับเราอยู่พอสมควร เพราะเมื่อพูดถึง Marketing Technology แล้ว บ้านเราจะมองไปในฝั่งของ 4P ที่เป็น Promotion เสียมากกว่า แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยีไม่ได้มีด้านเดียว และสามารถเชื่อมต่อได้กับหลายๆส่วนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการสร้าง Content หรือสร้างช่องทางในการ Engage กับลูกค้า (Create) การโปรโมตให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Connect) การบริหารจัดการ (Manage) ไปจนถึงการวัดผล (Measure) เมื่อท่านสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับธุรกิจของท่านแล้ว ท่านจะพบว่ารายจ่ายลดน้อยลง แต่กำไรกลับเพิ่มมากขึ้น . . เทคโนโลยีช่างแสนดีเสียจริง . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.8 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท EXZY Company Limited ที่มาแนะนำถึงเคล็ดไม่ลับในการเลือกหยิบจับโซลูชั่นต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยที่ต้นทุนไม่สูงมาก เพื่อก้าวให้ไกลกว่าที่คู่แข่งจะตามทัน . . #Speaker #DNA3bySPU 28 April 2018 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง #DNAjournal3 #EP7
Live สาระ . . ข้อมูลจาก Statista บริษัทสถิติออนไลน์ระบุว่า ในปี 2559 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มูลค่าดังกล่าวอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท และจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในทุกปี ตัวเลขดังกล่าวได้ส่งผลให้ให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดออนไลน์ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ . . ปัจจัยที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้ E-commerce มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นไปได้หลายประการ เช่น การส่งเสริมให้จ่ายเงินผ่านระบบ Online Payment ที่ทำให้การชำระค่าสินค้าเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปราศจากซึ่งค่าธรรมเนียม รวมถึงระบบการขนส่ง (Logistic) ที่มีให้เลือกแบบส่งข้ามวัน หรือส่งด่วนภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการเติบโตของ Social Commerce . . Social Commerce คือ การทำธุรกิจผ่าน Social Media อย่างเช่น Facebook Instagram Line และ Twitter เป็นธุรกรรมเชิงพาณิชย์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ความนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนจำนวนผู้ใช้งาน Social Media ของไทยที่ค่อนข้างสูง โดยกรุงเทพฯ นับว่าเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook มากที่สุดในโลก จากการสำรวจของ PWC พบว่าสัดส่วนของผู้บริโภคออนไลน์ชาวไทยที่ซื้อสินค้าผ่าน Social Media มีอยู่สูงถึง 51% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 16% . . พฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce และ E-commerce ก็มีความแตกต่างกัน โดยผู้ซื้อสินค้าผ่าน Social Platform มักถูกสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจากการพบสินค้าโฆษณาบน Social Media ที่ใช้ประโยชน์จาก “ระบบแนะนำสินค้า” (Recommendation System) ในการแสดงผลสินค้าที่ผู้บริโภคแต่ละรายมีแนวโน้มสนใจมากที่สุด . . ขณะที่ผู้ซื้อสินค้าบน e-Market Place Platform มักมีความต้องการสินค้าอยู่ก่อนแล้วจึงเลือกหาสินค้า ทำให้สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อผ่าน Social Media ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก และไม่ต้องการบริการหลังการขายหรือรับประกันสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เสื้อผ้าและรองเท้า ขณะที่สินค้าที่ต้องมีการวางแผนก่อนซื้อ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน มักจะได้รับความนิยมบน e-Market Place Platform เสียมากกว่า . . และเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 Facebook สื่อสังคมที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก ได้ทำการออกฟีเจอร์ Facebook Live ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเอากล้องที่ติดมากับสมาร์ทโฟน “ถ่ายทอดสด” ชีวิตตัวเองให้กับเพื่อนๆ ได้รับชม ซึ่งในตอนแรกนั้น Facebook ได้แจ้งว่าระบบ Live มีไว้ให้ผู้ใช้ได้แบ่งปันช่วงเวลาประทับใจเช่น งานแต่งงาน วันเกิด เพื่อให้เพื่อนและคนที่มีความหมายได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ธรรมชาติของการค้าขายคือ “ที่ไหนมีคน ที่นั่นย่อมมีเงิน” จึงมีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจ และผลผลิตนั้นก็คือ การ Live ขายสินค้าซึ่งเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างสูง . . การ Live ช่วยให้สินค้ามีพลังได้อย่างมหาศาล เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างสินค้าของท่านกับลูกค้าเป้าหมายได้ เพราะเวลาที่ท่านถ่าย Live VDO จะมีการแจ้งเตือนในฟีดข่าวของผู้ติดตามเพจให้ได้รับรู้ และถ้าท่าน Live ให้น่าสนใจและสนุกสนานน่าติดตาม จะสามารถดึงดูดให้ผู้ชมนั้นมี “ปฏิสัมพันธ์” (Engagement) เช่น การโต้ตอบ แสดงความเห็น หรือสอบถามได้เลยทันที ลูกค้าสามารถถามคำถามได้แบบเรียลไทม์ และได้คำตอบกลับไปทันที ไม่ต้องมารอคำตอบนานหลายวัน เหมือนส่งคำถามหรือความเห็นไปใน inbox หรือ email ลูกค้าส่วนมากจึงชื่นชอบการชม Live มากกว่าเข้าไปสั่งสินค้าในเพจ . . ถึงแม้การ Live จะทำให้การแสดงสินค้ามีประสิทธิภาพสูงและยังได้รับประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ Social Media แต่คำว่า “Live” นั้นกลับเป็นคำใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขี้น จึงมีหลายต่อหลายท่านยังไม่ค่อยเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การจะทำ “Live” นั้นมีขั้นตอนอย่างไร? และจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด . . หลักสูตร #DNA3bySPU ได้รับเกียรติจากคุณอรรถวิท ปัญญาภิญโญผล ผู้ก่อตั้ง B.A.S. ACADEMY ที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีและสอดประสานเข้ากับองค์ความรู้ที่มี เพื่อที่จะเปลี่ยนนักเรียนที่ไม่ชอบวิชาชีวะให้มาตกหลุมรักวิชาชีวะอีกครั้ง . . ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีการสอน (Education Tech) สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในโลกคงจะเป็น “ชอล์กและกระดานดำ” สื่อกลางที่ช่วยให้คุณครูสามารถถ่ายทอดจินตภาพออกมาและส่งไปถึงนักเรียนได้ อย่างไรก็ตาม โลกใบนี้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับเทคโนโลยีในการสอน ถ้าคุณครูไม่ปรับก็อาจถูกบังคับให้เปลี่ยน และเมื่อกระแสของโลกใบนี้มุ่งหน้าไปที่การถ่ายทอดสดหรือ “Live” แล้วทำไมคุณครูถึงไม่ลองใช้ประโยชน์จากวิทยาการนี้ล่ะ . . การ Live นอกจากช่วยทำให้คุณครูไม่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่รีบอาบน้ำแต่งตัวเพื่อไปสอนหน้าห้องตอนเจ็ดโมงเช้า ยังช่วยให้นักเรียนไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาเรียนที่โรงเรียน เพิ่มพลังสมาธิ สร้างความสะดวกสบาย และที่วิเศษที่สุดคือการ Live แต่ละครั้งยังช่วย เปิดโอกาสให้ผู้ที่ขาดทุนทรัพย์แต่มีความตั้งใจในการเสาะแสวงหาความรู้ สามารถเก็บเกี่ยวเคล็ดวิชาได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพื่อลงทะเบียน โดยอาศัยแค่มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น . . ถ้ามองอย่างผิวเผิน การทำ Live นั้นเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อจากคอนเทนท์ที่หลากหลายใน Social Media แต่โดยแท้จริงแล้ว กลับแฝงไปด้วยปรัชญาของหลักการขายที่ยิ่งใหญ่ถึง 2 ข้อด้วยกัน . . ข้อแรกคือ “การสร้างแบรนด์บุคคล” (Personal Branding) ศาสตร์สมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางขั้นตอน 3 ข้อคือ “รู้จัก” (To know) “ชอบ” (To like) และ “เชื่อ” (To believe) ย้อนไปเมื่ออดีตหลายสิบปีที่แล้ว “การสร้างแบรนด์องค์กร” (Corporate Branding) มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจมาก แต่ในปัจจุบันนอกจาก Corporate Branding แล้ว นักธุรกิจชั้นนำหลายคนเริ่มเห็นความสำคัญของ Personal Branding มากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้นำศาสตร์นี้มาใช้ต่อยอดเพื่อสร้างฐานแฟนคลับและส่งต่อผู้คนไปยังธุรกิจหลักของเขา และสร้างกองทัพผู้ติดตามในกรณีที่เขาจะออกไปทำธุรกิจใหม่หรือขยายธุรกิจ เฉกเช่น ริชาร์ด แบรนสัน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ แจ็ค หม่า . . ข้อที่สองคือ “การขจัดข้อโต้แย้ง” (Handing Objection) ซึ่งกระบวนการนี้มักจะเกิดในช่วงที่ลูกค้ามีความสนใจสินค้าแล้วแต่ยังไม่มั่นใจ 100 % จึงมีชุดคำถามเพื่อเสริมสร้างและประกันความมั่นใจ ซึ่งในภาษานักขายมักจะเรียกชุดคำถามเหล่านั้นว่า “ข้อโต้แย้ง” (Objection) นักขายหลายคนตีความว่าข้อโต้แย้งคือสัญญาณของการปฏิเสธ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งธรรมดาที่นักขายจะต้องเจอและต้องรีบเคลียร์ให้หมดก่อนที่ลูกค้าจะเดินจากไป . . แล้วถ้าท่านขายสินค้าท่านจะสามารถทำ Live ได้หรือไม่ ? ไบรอัน เทรซี่ ผู้เขียนหนังสือธุรกิจมากกว่า 70 เล่ม กล่าวว่า “การทำการตลาดคือสิ่งที่ทำให้การขายไม่มีความจำเป็น” ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องหา “ปัญญา” ในสินค้าที่สามารถขจัดข้อโต้แย้งในสินค้าของท่านได้เหมือนในงานแสดงสินค้า เช่น ถ้าท่านขายเสื้อผ้าแฟชั่น แล้วลูกค้าสงสัยว่าเสื้อตัวนี้ใส่แล้วจะสวยไหม? ก็ให้นางแบบสวมให้ดูเพื่อเป็นแรงจูงใจในการซื้อ หรือ ถ้าท่านขายกีต้าร์และลูกค้าถามว่าตัวนี้เสียงดีไหม ก็ให้นักดนตรีมาเล่นให้ฟัง เมื่อท่านสามารถทลายกำแพงข้อโต้แย้งออกไปจนหมดสิ้น ก็จะไม่ใช่เรื่องยากที่จะไปสู่ขั้นตอนปิดการขาย . . และที่สำคัญอย่าลืมหาวิธีสร้างภาพจำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นลูกค้าคนพิเศษที่ท่านรอคอย . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.7 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณอรรถวิท ปัญญาภิญโญผล ผู้ก่อตั้ง B.A.S. ACADEMY ที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีและสอดประสานเข้ากับองค์ความรู้ที่มี เพื่อที่จะเปลี่ยนนักเรียนที่ไม่ชอบวิชาชีวะให้มาตกหลุมรักวิชาชีวะอีกครั้ง . . #Speaker #DNA3bySPU 28 April 2018 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง |
DNAbySPUหลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม Archives
June 2019
Categories |