#DNAjournal2 #EP11
. . Digital Transformation หัวข้อที่ดูใหญ่โต...แต่กลับเชื่อมโยงได้ไม่ยาก . . Tefan Heck อาจารย์เศรษฐศาสตร์นวัตกรรมและทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับ Matt Rogers จากบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ McKinsey & Company เขียนหนังสือชื่อว่า Resource Revolution: How to Capture the Biggest Business Opportunity in a Century ที่ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังกังวลกับทรัพยากรที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ย่อมมีผู้ประกอบการล้มเหลวเป็นธรรมดา แต่ก็มีผู้ประกอบการบางกลุ่มเช่นกันที่ใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้สร้างโอกาสได้อย่างชาญฉลาด . . ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งล้วนเกิดจาก “เทคโนโลยีที่ดีกว่าและสมเหตุสมผลกว่า” ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายสะดุดล้มจากการที่ไม่ยอมปรับตัว และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เมื่อใดสะดุดล้มแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะลุกขึ้นมาวิ่งตามคู่แข่งทัน เปรียบเสมือนการสะดุดล้มในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร . . ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าในช่วงเวลานี้ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ไม่ใช่หลักการตลาด 101 ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 แต่คือการหันหน้าเข้าสู่ศาสตร์ของการทำตลาดสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน . . เมื่อโลกผันแปรจากการขับเคลื่อนด้วยระบบอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ทั่วทั้งโลกตื่นตระหนกกับคำว่า “Digital Transformation” และเมื่อคำนี้ปรากฏออกมาตามแวดวงสื่อหรืองานสัมมนาวิชาการ หลายต่อหลายท่านอาจเลิกคิ้ว มึนงงและรู้สึกกลัว เพราะยังมองไม่ออก และยังไม่รู้จะนำศาสตร์ความรู้ชุดนี้ทำการเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจของท่านได้อย่างไร ? . . อาจจะฟังดูน่าหดหู่และสิ้นหวัง แต่จริงๆ แล้ว ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ Digital Transformation ไม่ได้หมายถึงการทำให้ธุรกิจจำนวนมากหายไปอย่างเดียว แต่ยังทำให้หลายธุรกิจมีความหวังมากขึ้น และปรับตัวได้ง่ายขึ้น แล้วธุรกิจของท่านจะนำ Digital Transformation มาเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนได้อย่างไร ? . . หลักสูตร #DNAbySPU2 ได้รับเกียรติจาก คุณมัญฑิตา จินดา Senior Strategic Marketing Manager (Digital TV) Workpoint Entertainment ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ แนวคิดที่มีต่อ “แก่น” ของ Digital Transformation เพื่อให้ธุรกิจเตรียมก้าวเข้าสู่ปี 2018 อย่างไม่ตกเทรนด์และทันท่วงที . . แนวคิดสำคัญที่นำพาโตโยต้าสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในวงการยานยนต์ คือ แนวคิดแบบ “Lean Manufacturing” เป็นการให้ความสำคัญกับการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้าง คุณค่าให้กับลูกค้าให้มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นเท่านั้น . . Eric Ries ผู้ร่วมก่อตั้ง IMVU บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กแนว Second Life เขานำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงเข้ากับการบริหารบริษัท IMVU ของเขา เมื่อใช้กับ IMVU ได้ผล Eric จึงนำเอาเคสของ IMVU ที่ใช้หลัก Lean ในการบริหารไปเผยแพร่ในคลาสที่เขาสอนใน Harvard Business School และเขียนหนังสือ “Lean Startup” ออกมาจนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง . . Lean Startup ไม่ใช่แนวคิดที่ถูกสร้างมาเพื่อเน้นไปที่การประหยัดทางการเงิน แต่เกี่ยวข้องกับความเร็วและการลองผิดลองถูกเพื่อตอบคำถาม และพิสูจน์ความเป็นไปได้ของไอเดียนั้นโดยอาศัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่สัญชาติญาณ . . หัวใจหลักของ Lean Startup มี 3 สิ่ง ได้แก่ “สร้างเพื่อวัดผล” (Build) “วัดผลเพื่อเรียนรู้” (Measure) และ “เรียนรู้เพื่อสร้าง” (Learn) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เป็นกระบวนการเส้นตรงที่ทำแล้วจบไป แต่ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (Loop) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางที่ให้คุณค่าผู้คนได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา . . ขั้นตอนแรกคือการ “สร้างเพื่อวัดผล ” (Build) เมื่อท่านมีไอเดียแล้วให้ลงมือสร้างให้เร็วที่สุด แต่ไม่จำเป็นว่าผลิตภัณฑ์จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนจึงค่อยปล่อยสู่สาธารณะ โดยท่านอาจจะเริ่มจากการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) ที่มีแค่คุณสมบัติที่จำเป็นจริงๆ เพราะจุดประสงค์หลักของขั้นตอนนี้คือ การทำให้ไอเดียออกไปนำเสนอสู่สาธารณะให้เร็วที่สุด เพื่อเก็บข้อมูลและความคิดเห็นของผู้ใช้ . . หลังจากผลิตภัณฑ์ที่สร้างเอาไว้ในขั้นแรกถูกปล่อยสู่สาธารณะเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อมาคือ ขั้นตอนการ “วัดผลเพื่อเรียนรู้” (Measure) โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ ขึ้นมาและคอยดูว่าตัวเลขข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามที่คาดคิดหรือไม่ ? โดยให้พยายามพูดคุยและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ให้มากที่สุด เพราะจุดประสงค์หลักของขั้นตอนนี้คือ เช็คดูว่าความต้องการของพวกเขากับสิ่งที่ท่านคิดนั้นตรงกันหรือไม่ . . ขั้นตอนต่อมาคือ “เรียนรู้เพื่อสร้าง” (Learn) เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการครั้งต่อไป นอกเหนือจากความเข้าใจลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว ท่านอาจได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคต . . ปัจจุบันแนวคิด Lean Startup ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงการสตาร์ทอัพทั่วโลก แต่ไม่ได้ถูกใช้กับบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กเท่านั้น แนวคิดนี้ยังทำให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรม หรือเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ มองเห็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น . . อาจจะฟังดูไม่ค่อยเป็นวิชาการดิจิทัลเท่าไหร่ แต่เนื้อแท้ของแนวคิดนี้ก็เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ทดลอง ทดลองและทดลอง จนได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมา ในสมัยก่อนกว่าจะได้ผลลัพธ์มาต้องใช้ทรัพยากรและเวลามหาศาล แต่ในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัลใน Social Media ท่านกับลูกค้าห่างกันแค่ไม่กี่ก้าว เพียงแค่ท่านโพสต์ไอเดียของท่านลงไปในช่องทางที่ท่านมีเท่านั้น ท่านจะได้รับผลลัพธ์ในเวลาไม่กี่อึดใจ . . แน่นอนว่าการทดลองมักจะควบคู่กับความล้มเหลว แต่การล้มเหลวเป็นกระดาษแผ่นเดียวกับการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะเลือกมองที่ด้านใด ? . . “ฉันไม่รังเกียจที่จะนั่งที่พื้นของโรงเรียน สิ่งที่ต้องการสำหรับฉัน คือ การได้เรียนหนังสือ และฉันไม่เกรงกลัวใครที่จะแสดงออกเช่นนี้” -มาลาลา ยูซาฟไซ- (สาวน้อยมหัศจรรย์ชาวปากีสถาน ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ 2556) . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.11 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณมัญฑิตา จินดา Senior Strategic Marketing Manager (Digital TV) Workpoint Entertainment ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ แนวคิดที่มีต่อ “แก่น”ของ Digital Transformation เพื่อให้ธุรกิจเตรียมก้าวเข้าสู่ปี 2018 อย่างไม่ตกเทรนด์และทันท่วงที #Speaker #DNAbySPU2 4 November 2017 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments
Leave a Reply. |
DNAbySPUหลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม Archives
June 2019
Categories |