#DNAjournal2 #EP14 Cyber Security 'ในโลกที่ไซเบอร์กำลังเป็นใหญ่ ท่านยังปลอดภัยอยู่หรือเปล่า?'12/25/2017 #DNAjournal2 #EP14
. . Cyber Security ในโลกที่ไซเบอร์กำลังเป็นใหญ่ ท่านยังปลอดภัยอยู่หรือเปล่า ? . . ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายุคนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวแทบทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้โดยอัตโนมัติ ตามแนวคิดของ “อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” (Internet of Things) ที่ทำให้อุปกรณ์ที่ไม่เคยรู้จักมาจากต่างบ้านต่างถิ่นสามารถคุยกันเข้าใจด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยปราศจากล่าม (Machine to Machine) . . วิทยาการนี้มีข้อดีคือทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น เพราะไม่ต้องมานั่งจดข้อมูลที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาของชีวิตประจำวัน แต่ในข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย เพราะการที่ท่านพกพาอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลาทำให้มีการ “รับ” และ “ส่ง” ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการรับส่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนี่แหละ อาจจะทำให้ท่านเกิดอาการ “โดนของ” โดยไม่รู้ตัว . . คำว่า “โดนของ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงวิชาไสยศาสตร์ที่ใช้อักขระอันชั่วร้าย แต่หมายถึงไวรัสโทรจันที่เป็นต้นกำเนิดของอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต . . “ความมั่นคงไซเบอร์” หรือ Cyber Security ดูจะเป็นบทสนทนาที่นานๆ ถึงจะโผล่ขึ้นมาสักครั้งหนึ่งในสื่อต่างๆ น้อยกว่าเรื่องดาราและอุบัติเหตุ แต่เชื่อได้ว่าหลายท่านคงไม่ทราบว่า เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในโลก จากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่าอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นมูลค่ากว่า 445 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ 160 ประเทศรวมกันเสียอีก . . แล้วอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตทำลงไปเพื่ออะไรล่ะ ? อาชญากรหรือแฮกเกอร์คงไม่ได้จะเสียเวลาและทรัพยากรเพื่อเจาะเอาข้อมูลเพลย์ลิสที่ท่านชอบหรือรายชื่อหนังเรื่องที่ท่านโปรดปรานไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตหรอก แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นมุ่งหวังอย่างแท้จริงคือเงินที่อยู่ในบัญชีของท่านต่างหาก . . นักวิจัยด้านความปลอดภัยได้ออกมายกตัวอย่างเพื่ออธิบายถึงขั้นตอนและกระบวนการทำงานของไวรัสโทรจันทางการธนาคารที่ชื่อ “Direwolf” ที่วิธีทำงานของมันไม่ได้ซับซ้อนเหมือนที่เห็นในหนังจารกรรมแต่กลับง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ สมมุติว่าท่านบังเอิญได้ดาวน์โหลดไดร์วูล์ฟมาจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เจ้าหมาป่าจากโลกันต์จะแทรกเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของท่าน และมันก็จะนั่งอยู่ตรงนั้นและคอย มันจะรอคอยอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าท่านจะเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารเพื่อทำธุรกรรม และเมื่อท่านเข้าไปเจ้าหมาป่าตัวน้อยก็จะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในนั้นได้ และไปขโมยหลักฐานต่างๆ แล้วก็ใช้สิ่งนั้นไปขโมยเงินของท่าน . . เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งกับตัวท่านเองหรือคนรอบข้าง ดังนั้นท่านจะป้องกันตัวเองได้อย่างไรไม่ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น . . หลักสูตร #DNAbySPU2 ได้รับเกียรติจาก คุณอาทิตย์ ธำรงธัญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตทรี จำกัด และพิธีกรรายการ เกาเหลาไอที ที่จะมาอธิบายถึงความอันตรายของการโดนจารกรรมข้อมูล และสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อหยุดยั้งและไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นๆ . . พวกอาชญากรทำงานกันแบบนิรนาม และอยู่ในมุมมืดภายนอกเอื้อมมือของกฎหมาย แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ท่านไม่สามารถฟ้องร้องหรือเรียกร้องใดๆ จากผู้กระทำผิดได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองและสร้างภูมิคุ้มกันเอาไว้เสียก่อนย่อมมีชัยชนะเหนือการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเสมอ . . การอัพเดตระบบปฏิบัติการการบนสมาร์ทโฟนอาจดูเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย หลายๆ ท่านจึงละเลยการอัพเดต แต่ที่บริษัททยอยทำเวอร์ชั่นอัพเดทมาเพื่อลดช่องว่างด้านความปลอดภัย ดังนั้นท่านไม่ควรบอกปัดการอัพเดต . . ในมุมมองของคนทั่วไปการโหลดแอพมาใส่ไว้ในสมาร์ทโฟนถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่อาชญากรที่ชาญฉลาดสามารถนำเรื่องนี้มาใช้ในการจารกรรมข้อมูล ด้งนั้นยอมเสียเวลาสักนิดเพื่อตรวจสอบผู้จัดทำแอพเสียก่อน เพื่อให้สมาร์ทโฟนของท่านปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การใช้จ่ายไปกับซอฟท์แวร์ลิขสิทธ์ในคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ควรทำเพราะนอกจากจะได้ทำการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วยังแน่ใจได้อีกด้วยว่าจะไม่มีอะไรถูก “ฝัง” มาด้วย . . ถึงแม้ว่าคอมพิวเตอร์จะเสนอตัวช่วยในการจำพาสเวิร์ดในโปรแกรมที่ใช้งานบ่อยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ท่าน แต่ท่านก็ไม่ควรรับข้อเสนอนั้น เพราะเวลาที่ท่านไม่อยู่ที่หน้าจอและมีคนอื่นมาแทนที่ คอมพิวเตอร์ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นท่านหรือไม่ ? . . การตั้งพาสเวิร์ดให้ปลอดภัย ควรจะตั้งให้หลากหลาย อย่าใช้พาสเวิร์ดเดียวแต่ครอบคลุมทุกเว็บไซต์ เพราะถ้าอาชญากรสามารถล่วงรู้พาสเวิร์ดท่าน เขาสามารถเอาไปลองได้กับทุกเว็บ ดังนั้น ควรตั้งให้แตกต่างกันเข้าไว้ โดยตั้งพาสเวิร์ดหลักไว้ก่อน จากนั้นค่อยเติมชื่อย่อเว็บทีหลังก็ได้ เช่น PasswordFB สำหรับเล่น Facebook PasswordIG สำหรับเล่น Instagram . . เว็บไซต์ Opinium.co.uk ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ (Wi-Fi) และพบข้อเท็จจริงว่า Wi-Fi สาธารณะ สามารถเก็บพาสเวิร์ดของผู้ใช้มากกว่า 637 ล้านรหัสทั่วโลก สถานที่ที่ถูกระบุว่า มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้านกาแฟ โรงแรมและสถานที่สาธารณะต่างๆ โดยทั้งหมดถูกกระทำโดย “Wi-Fi Sniffer” อาชญากรทางคอมพิวเตอร์ที่ดักจับข้อมูลส่วนตัวผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ . . ในสงครามการรบถ้าผู้โจมตีมีเป้าหมายแล้ว เขาจะเลือกโจมตีไปยังจุดที่อ่อนแอที่สุดก่อนเสมอ Jack ma ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา เคยให้ความเห็นว่าวันดีที่สุดในการซ่อมหลังคาก็คือวันที่ฝนไม่ตก ดังนั้นควรป้องกันไว้ ดีกว่ามาเสียใจทีหลัง . . ที่มา : http://www.telegraph.co.uk/technology/internet-security/10886640/Cyber-crime-costs-global-economy-445-bn-annually.html , http://classroom.synonym.com/wifi-sniffing-21716.html . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP.14 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณอาทิตย์ ธำรงธัญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตทรี จำกัด และพิธีกรรายการ เกาเหลาไอที ที่จะมาอธิบายถึงความอันตรายของการโดนจารกรรมข้อมูล และสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อหยุดยั้งและไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นๆ #Speaker #DNAbySPU2 18 November 2017 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments
Leave a Reply. |
DNAbySPUหลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม Archives
June 2019
Categories |