#DNAjournal4 #EP17
ก้าวเล็กๆ สร้างการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ . . ในการประกอบธุรกิจนั้น สามารถแยกตลาดกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ตลาดมวลชน (Mass market) และตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) . . “ตลาดมวลชน” คือ กลยุทธ์ตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก โดยผลิตสินค้าที่มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยรวม ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบอะไรบางอย่างที่ “คล้ายคลึงกัน” และการที่ผลิตสินค้าออกมาจำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนผลิตที่ต่ำ ทำให้บริษัทหรือองค์กรสร้างความได้เปรียบในด้านราคาได้ . . “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” เป็นการผลิตสินค้าหรือบริการแบบเจาะจงให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าที่มีรสนิยมเฉพาะรูปเเบบ ตลาดเฉพาะกลุ่มอาจเกิดได้จากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด แต่หลุมแห่งความต้องการยังไม่ถูกเติมเต็ม หรืออาจจะเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นตามสภาพสังคมและรสนิยมที่เปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่ . . แล้วแบบไหนดีกว่ากัน ? “ตลาดมวลชน” มีมูลค่าสูงหลายพันหลายหมื่นล้านบาท (ลองจินตนาการว่า 10% ของคนไทยจ่ายเงินให้ท่านดู) แต่เหมาะกับผู้ประกอบการหรือกลุ่มทุนที่มีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอที่จะทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ไปยังทั่วประเทศได้ เพราะตลาดนี้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงโดยธรรมชาติ ทุ่มงบประมาณแข่งกันเป็นว่าเล่น และถ้าเงินไม่ถึงจริง ลูกค้าจะจำท่านไม่ได้และจะถูกบังคับให้ออกจากตลาดไป . . “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” เป็นตลาดที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและทรัพยากร ที่ไม่มีเงินพอจะแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ได้ แม้จะไม่มีมูลค่ามหาศาลเหมือนตลาดข้างบน แต่ก็มีมูลค่ามากพอระดับสิบถึงร้อยล้านบาท และลูกค้าในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยมากกว่าปัจจัยทางด้านราคา เรียกว่า แพงกว่าไม่เป็นไร ขอให้ถูกใจก็พอ ผู้ประกอบการในกลยุทธ์นี้จึงไม่ต้องแข่งขันกันทุ่มงบโฆษณา แต่ต้องรู้จักออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด . . โดยสรุปคือ ตลาดมวลชนทำให้เกิดโรงงาน ตลาดเฉพาะกลุ่มทำให้เกิดสินค้าใหม่ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทราบดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสินค้าที่ตอบสนองคนทุกคน ดังนั้นจึงเลือกตอบสนองบางคน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Segmentation” หรือ “การแบ่งกลุ่มลูกค้า” แล้วค่อยเลือกว่ากลุ่มไหนมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่ากัน จึงออกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มนั้น ในขณะที่ คนตัวเล็กทราบดีว่าเราไม่มีเงินพอที่จะไปแข่งกับเขา จึงทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อเอาใจลูกค้าให้อยู่กับเรานานที่สุด . . ในโลกยุคเก่าดูเหมือนตลาดมวลชนจะยิ่งใหญ่กว่าตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ในโลกยุคใหม่ตลาดมวลชนเริ่มจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ . . อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” เสรีภาพที่จะเลือกใช้เงินที่ไหนกับอะไร ในโลกยุคเก่าไม่สามารถทำได้ เพราะช่องทางถูกจำกัด ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กที่มีสินค้าคุณภาพดีแต่ไม่มีเงินพอจะซื้อสื่อเพื่อโฆษณาตนเอง ไม่สามารถปรากฏตัวได้ แต่ในยุคนี้ทุกคนสามารถหาร้านประเภทนั้นได้ไม่ยาก เพียงแค่พิมพ์ไปในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น . . ลองจินตนาการถึงถนนสายหนึ่งในกรุงเทพ ที่มีร้านกาแฟราคาถูกและแพง มีร้านหมูปิ้งและร้านสลัด ซึ่งแต่ละร้านก็มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มของร้านนั้นๆ ภาพนั้นแสดงให้เห็น “เสรีภาพที่จะเลือก” ได้อย่างแท้จริง . . แต่การจะเป็นผู้นำในตลาดเฉพาะกลุ่มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความทุ่มเท ขยันอดทน ในการ “ออกแบบมาเพื่อคุณ” ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่สุด ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งดี และโปรดอย่ากังวลเลยว่าเล็กเกินไปจะเหนื่อยเปล่าเสียเวลา การเริ่มจากเล็กไม่ใช่ว่าจะใหญ่ไม่ได้ ถ้าท่านเจาะเกาะติดและตอบสนองลูกค้าให้พึงพอใจได้ตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งเขาจะช่วยพาท่านไปยกต่อไป โดยการเชิญชวนเพื่อนมาใช้บริการของท่าน . . ทุกการเดินทางที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ของคนที่มีความกล้าหาญเสมอ ทุกสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้สูญเปล่า เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่สุกงอมเท่านั้น ดังนั้นโปรดอย่าใจร้อนหรือฉีดสารย่นเวลาให้ต้นไม้โตในเร็ววัน ทุกอย่างในโลกมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมัน และเมื่อไหร่ที่ถึงเวลาของมัน มันคุ้มค่ากับการรอคอย . . #itsyouYOU . . หมายเหตุ 1. #DNAjournal จัดทำเพื่ออธิบายต่อยอดข้อมูลการบรรยายของ Speaker ในหลักสูตร #DNAbySPU 2. ข้อมูล EP17 ต่อยอดจากการบรรยายของคุณสาลินี รัตนชัยสิทธิ์ ศิลปินวาดภาพประกอบ Character Illustrator เจ้าของแบรนด์ @Cyranodesign และศิษย์เก่าของ #DNAbySPU รุ่นที่ 1 ที่มาแบ่งปันเรื่องราวของสิ่งเล็กๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาลและสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้อย่างไม่รู้ลืม #DNA4bySPU 9 March 2019 . . จัดทำโดย หลักสูตร #DNAbySPU :: Digital Network Advantage , Digital Business Management Department, Sripatum Business School, #SPU www.DNAbySPU.com ใช้ #DigitalMarketing เพื่อให้เกิดภาพจำ และเป็น DNA ของตัวเอง
0 Comments
Leave a Reply. |
DNAbySPUหลักสูตรพัฒนาพันธุกรรม Archives
June 2019
Categories |